สุโขทัย

มรดกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง มั่นคงพระพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข

ประวัติศาสตร์จังหวัดสุโขทัย

      จากการศึกษาร่องรอยทางโบราณคดีและโบราณวัตถุ ศิลาจารึก และตำนานพงศาวดารท้องถิ่นหลายฉบับ ทำให้เข้าใจว่า ระยะก่อนปี พ.ศ. ๑๖๗๑ นั้น ปรากฏว่าอำนาจของอาณาจักรเขมร รุ่งเรืองมากในดินแดนสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๑๖๐๐ เป็นต้นมา จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ อาณาจักรเขมรมีศูนย์กลางอำนาจทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) อาณาจักรเขมรมีการปกครองแบบราชาธิปไตย กษัตริย์จะส่งขุนนางมาปกครองเมืองบริวาร โดยเมืองบริวารจะต้องส่งส่วยเป็นเครื่องราชบรรณาการให้แก่นครหลวง ขณะเดียวกับบางท้องถิ่นอาจเป็นอิสระมีอำนาจปกครองตนเอง กลุ่มชนมีขนาดไม่ใหญ่โต ผู้ปกครองเป็นผู้ที่ได้รับรับการยกย่องจากกลุ่มชนให้เป็นผู้ ปกครอง ไม่มีความซับซ้อนในการปกครองเพราะประชาชนยังมีน้อย บริเวณที่มีความสำคัญในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง คือ

๑. บริเวณเมืองศรีเทพ ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีซากโบราณสถานเป็นปรางค์ที่สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ รวมทั้งเทวรูปศิลาหลายองค์ ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นศิลปกรรมแบบเขมร

๒. บริเวณเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ซึ่งปรากฏมีโบราณสถานเป็นศิลปกรรมแบบเขมร   ได้แก่ พระปรางค์วัดจุฬามณี ซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลง

๓. บริเวณเมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เป็นศิลปกรรมแบบเขมร คือ พระปรางค์วัดเจ้าจันทร์ พระปรางค์ ๓ องค์วัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดงและฐาน       พระปรางค์วัดศรีสวาย เมืองเก่าสุโขทัย เป็นต้น

สุโขทัยในฐานะที่เป็นแคว้นทางการปกครองอย่างเป็นเอกเทศ ได้ปรากฏรูปร่างขึ้นมาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อวีรบุรุษไทย ๒ คน คือ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง สหายทั้ง ๒ ท่าน ได้ร่วมมือกันยึดเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยคืนมาจากข้าศึกที่ชื่อว่า “ขอมสบาดโขลญลำพง”

pdf


You May Also Like

สนใจเว็บไซต์นี้