อุบลเมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชถ์ ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์ ฉลาดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดินแดนอนุสาวรีย์คนดีศรีอุบล
ประวัติฯอุบลราชธานี
๑. สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของเมืองหรือจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงในปัจจุบัน ได้มีกลุ่มชนตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ประปรายบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพวกที่สืบเชื้อสายมาจากขอมหรือที่เรียกกันในสมัยต่อมาว่าพวกข่า ส่วย กวย ฯลฯ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นในกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ไพร่บ้านพลเมืองต่างอพยพหลบภัยสงครามข้ามลำน้ำโขงมาทางฝั่งตะวันตก และได้ตั้งหลักแหล่งทำมาหากินอยู่ตามบริเวณพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และบริเวณใกล้เคียง (ในปัจจุบัน) เรื่อยลงไปโดยตลอดจนถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ โดยแยกย้ายกันตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ในท้องที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ บุคคลผู้เป็นที่เคารพนับถือของแต่ละกลุ่มชน ก็จะได้รับการยกย่องนับถือและยอมรับให้เป็นหัวหน้าปกครองดูแลพลเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข และพ้นจากการรุกรานของกรุงศรีสัตนาคนหุต
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังจะเสียแก่พม่านั้นได้เกิดสงครามกลางเมืองเพื่อแย่งชิงราชสมบัติในกรุงศรีสัตนาคนหุตอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะพระเจ้าองค์หล่อผู้ครองกรุงศรี-สัตนาคนหุตถึงแก่กรรม โดยไม่มีโอรสสืบราชสมบัติ แสนท้าวพระยานายวอ และนายตา จึงพร้อมใจกันอัญเชิญกุมารองค์หนึ่ง (ในจำนวน ๒ องค์ ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตองค์ก่อนและได้หลบหนีภัยการเมืองมาอยู่กับนายวอ นายตา เมื่อคราวพระเจ้าองค์หล่อยกกำลังกองทัพมาจับพระ-ยาแสนเมืองฆ่าเสีย เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๕) ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุตทรงพระนามว่า “พระเจ้าสิริบุญสาร”