ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม
ปโตเลมี (Ptolemy) นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งมีชีวิตอยู่ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ – พ.ศ. ๗๑๓ ได้ระบุไว้ในตำราภูมิศาสตร์ว่า การเดินทางจากสุวรรณภูมิลงมาทางใต้ไปยังแหลมมลายูนั้น จะต้องผ่านแหลมจังซีลอน (Junk Ceylon)
ในหนังสือจีนเขียนโดย เจาซูกัว (Tchao Jau Kaua) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๑๗๖๘ ได้ระบุชื่อเมืองสิลัน (Si – Lan) และว่าเมืองสิลันเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย
ในสัญญาทำการค้าขายระหว่างไทยกับฮอลันดา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๗ ก็ปรากฏชื่อเมืองโอทจังซูลางห์ หรือ โอทจังซาลัง อยู่ในสัญญาด้วย ๑
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า เกาะถลางนั้นที่ทำไร่นาได้ มีแต่ทางเหนือ จึงตั้งเมืองถลางอยู่แต่ข้างเหนือแต่เดิมมา ตอนข้างใต้ไม่มีที่ทำไร่นา แต่มีดีบุกมากมีแต่คนหาปลาอยู่ริมทะเลกับคนไปตั้งขุดหาแร่ดีบุกอยู่ชั่วคราว แต่ดีบุกเป็นของต้องการใช้ราชการมาแต่โบราณ จึงตั้งเมืองภูเก็ตเป็นเมืองขึ้นของเมืองถลางมาแต่สมัยศรีอยุธยา ๒
๑ สุนัย ราชภัณฑารักษ์ ท้าวเทพกระษัตรี (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, ๒๕๒๕)หน้า๑.
๒ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๐(องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๐๔) หน้า ๖.