คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง
สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
ประวัติความเป็นมาของจังหวัดระนองสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาไม่มีหลักฐานปรากฏเข้าใจว่าสมัยนั้นจังหวัดระนองยังคงมีสภาพเป็นป่าดง รกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเจริญรุ่งเรืองทางส่วนใต้ของประเทศไทยในสมัยนั้น
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา (ระหว่าง พ.ศ.๑๙๙๑ – ๒๐๗๒) ได้มีการปรับปรุงระบบการปกครองบ้านเมือง โดยยกเลิกการปกครองแบบที่มีเมืองลูกหลวง ๔ ด้าน ราชธานีที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และได้มีการขยายขอบเขตการปกครองของเมืองหลวงให้กว้างออกไปโดยรอบ คือจัดเป็นแบบในวงราชธานีกับนอกวงราชธานี ในวงราชธานีนั้นถือเอาเมืองหลวงเป็นหลักและมีเมืองจัตวาขึ้นอยู่รายรอบหัวเมือง เมืองจัตวาเหล่านี้มีผู้รั้ง (เจ้าเมือง) กับกรมการเป็นพนักงานปกครองโดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีทั้งหลายในเมืองหลวงส่วนหัวเมืองที่อยู่นอกวงราชธานี หรือเมืองชายแดนหน้าด่านชายแดนนั้น จัดให้เป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี ตามขนาดความสำคัญของเมืองนั้น ๆ ซึ่งต่อมาเรียกว่าหัวเมืองชั้นนอก หัวเมืองชั้นนอกเหล่านี้ต่างก็มีหัวเมืองเล็กๆ คั่นอยู่เช่นเดียวกับในวงราชธานี มากบ้างน้อยบ้างตามขนาดของอาณาเขตโดยกำหนดตามท้องที่สุดแต่จะให้พนักงานปกครองต่างเมืองเดินทางไปมาถึงกันได้ภายในวันหรือสองวัน เพื่อจะได้บอกข่าวช่วยเหลือกันเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ภาวะสงคราม บรรดาหัวเมืองชั้นนอก เหล่านี้ พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งเจ้านายในราชวงศ์ หรือข้าราชการชั้นสูงศักดิ์เป็นผู้สำเร็จราชการเรียกว่าเจ้าเมือง หรือพระยามหานครตามแต่ฐานะของเมืองมีอำนาจปกครองบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดต่างพระเนตรพระกรรณทุกประการ ในสมัยอยุธยานี้ เมืองระนองมีลักษณะเป็นหัวเมืองเล็กๆ ขึ้นอยู่กับเมืองชุมพร ซึ่งเป็นหัวเมืองชั้นตรี มีอาณาเขตติดทะเลฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก นอกจากเมืองระนองซึ่งเป็นเมืองชั้นเอก เมืองชุมพรแล้วยังมีเมืองตระ (อำเภอกระบุรี) เมืองปะทิว เมืองตะโก เมืองหลังสวนและเมืองมลิวัน (เดี๋ยวนี้อยู่ในสหภาพพม่า)