พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามละบือ เลื่องลือทุเรียนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ
ประวัติฯนนทบุรี
ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
จังหวัดนนทบุรี เป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตำบลที่ตั้งเมืองนนทบุรีขึ้นมาครั้งแรกนั้นมีชื่อว่า บ้านตลาดขวัญ ต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๒ ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า “ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงนั้น(๑) เป็นพระเจดีย์วิหารสำเร็จแล้ว ให้นามชื่อ วัดสบสวรรค์ แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ไพร่บ้านเมืองตรีจัตวา ปากใต้ฝ่ายเหนือเข้าพระนครครั้งนี้น้อย หนีออกอยู่ป่าดงห้วยเขา ต้อนไม่ได้เป็นอันมากให้เอาบ้านท่าจีนตั้งเป็นเมือง สาครบุรี(๒) ให้เอาบ้านตลาดขวัญตั้งเป็นเมืองนนทบุรี ให้แบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี…”(๓)
บ้านตลาดขวัญเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์และเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่ง ของกรุงศรีอยุธยา ฝรั่งต่างชาติที่ได้เดินทางเข้ามาค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาต่างก็ได้บันทึกเอาไว้ ดังปรากฏในจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า “สวนผลไม้ที่บางกอกนั้น(๔) มีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่ง โดยทวนขึ้นสู่เมืองสยามถึง ๔ ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ (Talacouan) ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหาร ซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันนักหนา.…”(๕)
นอกจากนี้ยังมีดินแดนทางตอนใต้ของตลาดขวัญอีกแห่งหนึ่งชื่อว่า ตลาดแก้ว ตลาดแก้วแห่งนี้เข้าใจว่าคงจะมีความสำคัญควบคู่กันมากับตลาดขวัญตั้งแต่ก่อนจะตั้งเป็นเมืองนนทบุรีแล้ว เพราะปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ว่า “……ตำบลสำคัญๆ ที่แม่น้ำสายนี้(๖)ไหลผ่าน คือ แม่ตาก (Mc-Tae) อันเป็นเมืองเอกของราชอาณาจักรสยามที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือหนพายัพ ถัดจากนี้ต่อมาก็ถึงเมืองเทียนทอง (Tian-Tong) หรือเชียงทอง กำแพงเพชรหรือกำแพงเฉยๆ ซึ่งลางคนออกเสียงว่า กำแปง (Campingue) แล้วก็มาถึงเมืองนครสวรรค์ (Loconsevan) ชัยนาท (Tchainat) สยาม(๗) ตลาดขวัญ ตลาดแก้ว (Talapu’ou) และบางกอก.….(๘)
(๑) พระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
(๒) คือจังหวัดสมุทรสาคร
(๓) พระราชพงศาวดารสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม (สำนักพิมพ์ก้าวหน้า), หน้า ๗๖
(๔) หมายถึงกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน
(๕) จดหมายเหตุของลาลูแบร์, หน้า ๑๔
(๖) หมายถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
(๗) หมายถึงกรุงศรีอยุธยา
(๘) จดหมายเหตุของลาลูแบร์, หน้า ๑๔